บทนำ
แม้ว่าผมจะเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการ์ดจอของ Matrox มาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งก็ได้แก่เรื่อง การ์ดจอที่ทำงาน 2d ที่ได้ดีที่สุดในโลก และเรื่อง การ์ดจอสำหรับการแพทย์ ซึ่ง 2 บทความนี้จะกล่าวถึงการ์ดจอ Matrox ในบางรุ่นเท่านั้นครับ ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องราวของ Matrox นั้นยังมีอีกมากมายครับ และ Matrox เองก็เป็นผู้ผลิตการ์ดจอที่มีบทบาทในวงการการ์ดจอเป็นอย่างมากเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นลูกเล่นทาง MultiDisplay ที่แพรวพร่าวที่ไม่มีใครตามทัน หรือความสามารถในการตัดต่อวีดิโอที่เหนือชั้น ตลอดจนการนำเทคโนโลยีในการประมวลผล 3มิติ ที่ล้ำสมัยมาใช้ในการ์ดจอของตนได้ก่อน Nvidia และ ATI(AMD) เสียอีกครับ ไม่ว่าจะเป็นว่าจะเป็นด้าน Hardware และ Software แต่เพราะอะไรกัน ที่ทำให้ผู้ผลิตการ์ดจอที่ล้ำสมัยและนำเทคโนโลยีรายนี้ต้องพ่ายแพ้ในสงครามการ์ดจอสำหรับการเล่นเกม ซึ่งเรากำลังจะได้ทราบคำตอบใน A.A.C ตอนนี้กันนะครับ
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของ Matrox นั้นมีความหลากหลายมากครับ เพราะว่า Matrox นั้นต้องการที่จะเข้าถึงลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่มครับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้งานทางด้านกราฟิคทั่วไป กลุ่มผู้ใช้งานทางด้านตัดต่อวิดีโอ กลุ่มแพทย์ผู้ที่ต้องการการ์ดจอที่มีความละเอียดสูงเป็นพิเศษ ตลอดจนองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆที่ต้องการกราฟิคการ์ดที่มีความสามารถพิเศษซึ่งความสามารถเหล่านี้ไม่มีอยู่ในกราฟิคการ์ดที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดครับ ในบทความนี้ผมจะขอเน้นเฉพาะในส่วนของกราฟิคการ์ดที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานทั่วไปจนถึงการเล่นเกมนะครับ เพราะว่าเป็นกลุ่มกราฟิคการ์ดที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุดครับ
Matrox Ultima และ MatroxImpression (MGA IS-ATLAS R1)
ก่อนที่ Matrox จะผลิตชิพกราฟิคขึ้นมาใช้เองนั้น ทาง Matrox เคยนำชิพกราฟิคของผู้ผลิตชิพกราฟิครายอื่นๆมาประกอบเป็นการ์ดจอภายใต้ยี่ห้อ Matrox มาก่อนครับ แต่ชิพกราฟิคตัวแรกของ Matrox ที่ทำขึ้นเอง และนำไปประกอบบนการ์ดจอของตัวเองคือชิพ MGA IS-ATLAS R1 ครับ
MGA IS-ATLAS R1 ถูกออกแบบมาใช้สำหรับทำงาน CAD โดยเฉพาะครับ จุดอ่อนของ MGA IS-ATLAS R1 ก็คือการไม่รองรับคุณสมบัติ Texturing ดังนั้นผู้สร้างงาน 3มิติ จะต้องใช้เทคนิคการสร้างพื้นพิวแบบอื่นๆแทน เช่น การใช้เทคนิค Gouraud Shading หรือ Flas shading เป็นต้นครับ ซึ่งคุณภาพของงานที่ได้จะดีสู้การใช้ Texturing ไม่ได้
(*หมายเหตุ ในสมัยนั้นเกมและงานกราฟิคต่างๆยังไม่นิยมใช้ Texturing กันครับ แต่ในเวลาต่อมาเมื่อ Microsoft ได้กำหนดให้มีการใช้ Texturing เป็น 1 ในมาตรฐานของ Direct3D แล้ว นักพัฒนาเกมจึงหันมาใช้ Texturing กันเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตชิพกราฟิคชิพต้องปรับตัวตามไปด้วย)
MGA IS-ATLAS R1 ถูกนำไปติดตั้งบนการ์ดจอของ Matrox รุ่นต่างๆดังนี้ครับ
- Matrox Ultima
- Martrox Impression
- Martrox Impression Plus
ภาพการ์ดจอ Matrox Impression ซึ่งใช้ชิพกราฟิค MGA IS-ATLAS R1
***เกล็ดความรู้*** Shading และ Texturing
Shading คือการเต้มช่องว่างใน polygons ให้เป็นแผ่น โดยอาศัยค่าสีจาก vertices ที่ได้ หลังจาก ผ่านขั้นตอน Lighting แล้ว ปกติ จะใช้การ shading 3 แบบคือFlat Shading จะเป็นการเติม polygons ด้วยสีสีเดียว ซึ่งอาจจะเลือกเอามาจาก vertices ใด vertices หนึ่ง หรือเอาค่าสีของแต่ละ vertices มาเฉลี่ย แล้วใช้สีนั้นเติมจนเต็มแผ่น polygon
Gouraud Shading เป็นการเติม polygons ด้วยสีที่มาจาก การผสมสีระหว่าง 2 vertices ไล่จาก ด้านของ polygons เข้ามาเรื่อย ๆ และมีการไล่ค่าสีไปตามสัดส่วนของระยะทางจาก จุดเริ่มต้น ไป จนถึงจุดสุดท้าย จน ด้านแต่ละด้านของ polygons กลายเป็นแผ่นสี และค่อย ๆ เฉลี่ยสีเข้ากับสีจาก ด้านอื่น ๆ จนกลายเป็นแผ่นเต็ม polygons
Phong Shading เป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นจาก Gouraud Shading นั่นคือ จะมีการระบุ vector เพิ่มขึ้นบนพื้น polygons เพื่อเป็นตัวกำหนดทิศทางของพื้นผิวในแต่ละจุด ของพื้นผิว polygons ทำ ให้ขั้นตอนการทำ Lighting สามารถคำนวณค่าสีที่ถูกต้อง ของแต่ละจุดภายใน polygons ได้Texturing เป็นขั้นตอนการแปะภาพ ลงไปบน polygons ที่ขึ้นรูปทรงไว้แล้ว ทำให้วัตถุนั้น ดู ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น
Matrox Millennium (MGA IS-STORM R2)
สำหรับชิพรุ่นต่อมาคือ MGA IS-STORM R2 ถูกนำไปติดตั้งบนการ์ด Matrox Millennium ครับ MGA IS-STORM R2 ได้พัฒนาประสิทธิภาพในประมวลผล 2D ให้ดีกว่า MGA IS-ATLAS R1 ครับ นั้นคือสามารถแสดงผล 2D ออกมาได้อยากรวดเร็ว และมีสีสรรของภาพที่คมชัดกว่าชิพกราฟิคของคู่แข่งที่ออกมาในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ Matrox ยังได้มีการนำ WRAM มาใช้คู่กับชิพกราฟิค MGA IS-STORM R2 บนการ์ด Matrox Millennium เสียด้วยครับ ซึ่ง WRAM นี้มี Bandwith สูงมากกว่า RAM ชนิดอื่นๆที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น สิ่งนี้จึงส่งผลให้การ Matrox Millennium เป็นการ์ดที่มีชื่อเสียงในการประมวลผล 2มิติและ 3มิติ เป็นอย่างมากในเวลานั้น
MGA IS-STORM R2 สนับสนุน Direct3D ที่อยู่ใน DirectX 2.0 แต่ยังไม่สนับสนุน OpenGL ครับ
ภาพการ์ดจอ Matrox Millenium
Matrox Mystique (จุดเริ่มต้นในการบุคตลาดเกมของ Matrox)
Matrox ได้มองเห็นโอกาสในตลาดการ์ดจอสำหรับเล่นเกมที่จะมีการเติบไปอีกมากในอนาคต ดังนั้น Matrox จึงได้พัฒนาชิพตัวใหม่ขึ้นมา นั้นก็คือ MGA-1064SG และนำไปติดตั้งบนการ์ดที่ใช้ชื่อว่า Matrox Mystique
สิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน Matrox Mystique (ซึ่งใช้ชิพกราฟิค MGA-1064SG)
- สนับสนุน DirectX 3.0 ซึ่งใหม่กว่ารุ่น Millennium ที่สนับสนุนเพียง DirectX 2.0
นอกจากความใหม่แล้ว Matrox Mystique ยังมีราคาที่ถูกกว่าการ์ดรุ่น Martrox Millennium อีกด้วยครับ โดยมีสาเหตุดังนี้
- Mystique ลดต้นทุนลงมา โดยการเปลี่ยนมาใช้งานคู่กับหน่วยความจำชนิด SGRAM แทนการใช้ WRAM ที่เคยใช้การ์ดรุ่น Millennium ทำให้การ์ดจอรุ่น Mystique นี้มีราคาที่ถูกกว่า Millenium ครับ
- ใช้ RAMDAC ที่มีความเร็วเพียง 170 MHz ซึ่งน้อยกว่ารุ่น Millennium ที่มีความเร็ว RAMDAC ถึง 175, 220 และ 250 MHz
รายชื่อการ์ดในตระกูล Mystique
- Martrox Mystique
- Martrox Mystique 220 (หมายความว่ามีความเร็ว RAMDAC 220 MHZ)
***เกรดความรู้ ***
- SGRAM (Synchronous Graphic RAM) คือ RAM สำหรับใช้ในงานกราฟฟิคโดยเฉพาะ โดยมี จุดเด่นอยู่ที่ ฟังก์ชัน ที่ใช้โดย Page Register ซึ่ง SG สามารถทำการเขียนข้อมูลได้หลาย ๆ ตำแหน่ง ในสัญญาณนาฬิกาเดียว ในจุดนี้ทำให้ความเร็วในการแสดงผล และ Clear Screen ทำได้เร็วมาก และยังสามารถ เขียนแค่ บาง bit ในการ word ได้ (คือไม่ต้องเขียนข้อมูลใหม่ทั้งหมดเขียนเพียงข้อมูลที่เปลี่ยนแปลง เท่านั้น) โดยใช้ bitmask ในการเลือก bit ที่จะเขียนใหม่
- VRAM (Video RAM (VRAM) คือ RAM ที่ถูกออกแบบมาใช้บน Dispaly Card จุดเด่น คือ จะมี serial port พิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก 1หรือ 2 port ทำให้เรามองว่ามันเป็น RAM แบบ พอร์ทคู่ (Dual-Port) หรือ ไตรพอร์ท (Triple-Port) Parallel Port ซึ่งเป็น Standard Interface ของมัน จะถูกใช้ในการติดต่อกับ Host Processor เพื่อสั่งการให้ ทำการ refresh ภาพขึ้นมาใหม่ และ Seral Port ที่เพิ่มขึ้นมา จะใช้ในการส่งข้อมูลภาพออกสู่ Display
- WRAM (Windowns RAM (WRAM) คือ RAM ที่ถูกพัฒนาโดย Matrox ซึ่ง WRAM นี้โดยรวมแล้วก็เหมือน ๆ กับ VRAM จะต่างกันก็ตรงที่ มันรองรับ Bandwith ที่สูงกว่า อีกทั้งยังใช้ระบบ Double-Buffer อีกด้วย จึงทำให้มันเร็วกว่า VRAM อีกมากทีเดียว
Martrox Millennium II
หลังจากที่การ์ดรุ่น Mystique ประสบความสำเร็จไปด้วยดี แต่แฟนๆ Matrox ก็ต้องการการ์ดจอที่มีประสิทธิภาพและความแรงมากกว่าที่มีอยู่ใน Mystique ทาง Matrox จึงได้พัฒนาชิพรุ่น MGA-2164W และนำไปติดตั้งบนการ์ดรุ่น Matrox Millennium II
- Millennium II ที่ใช้ชิพ MGA-2164W นี้มีความเร็ว 90 MHz ซึ่งสูงกว่า MGA-1064SG ที่ใช้ในการรุ่น Mystique ซึ่งมีความเร็วเพียง 66 MHz เท่านั้น
- Millennium II ใช้งานคู่กับหน่อยความจำชนิด WRAM ซึ่งมีประสิทธิภาพเหนือกว่ารุ่น Mystique ที่ใช้ SGRAM
- Millennium II และ Mystique สนับสนุน DirectX3.0 เหมือนกัน
- Millennium II ราคาแพงกว่า Mystique
สำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1993 ถึงกลางปี 1996 นั้นเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ Matrox ไม่มีคู่แข่ง เพราะว่า คู่แข่งหลายๆคนยังไม่ได้เกิด และอีกหลายๆคนกำลังสุ้มเงียบทำชิพกราฟิคที่มีประสิทธิภาพสูงกันอยู่นั้นเองครับ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทำให้ Martox นั้นไม่รู้เลยว่าสงครามชิพกราฟิคครั้งใหญ่กำลังอุบัติขึ้นมาในไม่ช้านี้
ภาพการ์ดจอ Matrox Millennium II
Matrox M3D
เมื่อสงครามกราฟิค ระเบิดขึ้น Matrox ต้องพบกับคู่ต่อสู้หน้าใหม่ 2 รายนั้นก็คือ 3dfx และ NVIDIA ซี้งได้ส่งชิพกราฟิคที่มีประสิทธิภาพสูงออกมานั้นก็คือ 3dfx Voodoo และ NVIDIA RIVA 128 ซึ่งการ์ดทั้ง 2 ตัวสนับสนุน DirectX 5 และ OpenGL นอกจากคู่ต่อสู้หน้าใหม่แล้ว Matrox ต้องเจอกับเพื่อนเก่าอย่าง ATi ที่ส่ง Rage Pro ออกมาซึ่งก็สนับสนุน DirectX 5 ออกมาเช่นเดียวกันกับ 3dfx และ NVIDIA
ในเวลานั้น Millennium II และ Mystique ที่สนับสนุน DirectX 3 แม้จะเล่นเกมที่พัฒนาจาก DirectX 5 ได้บ้างก็ตามที แต่ก็ยังไม่สามารถแสดงคุณสมบัติทางกราฟิค 3มิติออกมาได้ครบเช่น การแสดงหมอกควัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อยู่ใน DirectX 5.0 นอกจากนี้ ยังไม่สามารถทำการกรองภาพแบบ Bilinear ได้ด้วย จากเหตุข้างต้นจึงทำให้การ์ดของ Matrox แสดงภาพของเกม 3มิติออกมาไม่สวยนัก
ส่วนเรื่องความเร็วในการแสดงผล 3มิตินั้น Millennium II และ Mystique ก็สู้ Voodoo ไม่ได้แถมการ์ดของ Martrox ก็ยังมีราคาที่แพงกว่าคู่แข่งอีกเสียด้วยครับ เพราะ
- Voodoo ใช้ EDORAM แรมที่มีราคาถูกกว่า SGRAM และ WRAM ที่ Matrox ใช้อยู่
- แม้ว่า EDORAM จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า SGRAM และ WRAM เมื่อเทียบกันตัวต่อตัวแล้วก็ตาม แต่ 3dfx ก็นำ EDORAM มาทำการต่อแบบ DUAL-Channel จึงทำให้ EDORAM บน Voodoo มีความกว้างของ Bus Interface ถึง 128 bit (64 x 2)ทำให้มีประสิทธิภาพ เหนือกว่า SGRAM และ WRAM แบบ Single - Channel (64 Bit)
- Voodoo เป็นการ์ดสำหรับทำงาน 3มิติอย่างเดียว จึงมีต้นทุนที่ถูกกว่า Millenium II และ Mystique ที่เป็นการ์ดที่ออกแบบมาให้ทำงานได้ทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ
ต่อมา Matrox ก็ได้นำชิพ PCX2 จาก PowerVR มาประกอบเป็นการ์ดจอชื่อรุ่น Matrox M3D ซึ่งชิพของ PowerVR นี้มีจุดเด่นตรงที่ใช้เทคโนโลยี Tile Based Rendering ซึ่งทำให้ประหยัดหน่วยความจำบนตัวการ์ดเมื่อมีการ Render ภาพกราฟิค 3มิติ ได้อย่างมากครับ
แต่หลังจาก Matrox M3D แล้ว Matrox ก็ไม่เคยนำชิพของผู้ผลิตชิพกราฟิครายอื่นๆมาใช้กับการ์ดของตนอีกเลย
ภาพการ์ดจอ Matrox M3D
Matrox MGA G100 Series (ช่องทางหากินใหม่ของ Matrox)
อย่างที่เราทราบกันไปแล้วว่า จุดอ่อนของ Millenium II และ Mystique คือการขาดคุณสมบัติที่จะมาช่วยเพิ่มความสวยงามของกราฟฟิคไปหลายอย่าง ดังนั้นทาง Matrox จึงได้พัฒนาชิพกราฟฟิครุ่น MGA G100 ขึ้นมาครับ โดยเพิ่มคุณสมบัตกราฟฟิคที่ขาดหายไปในรุ่น Millenium II และ Mystique ดังนี้ครับ
- fogging
- stipple alpha-blending
แม้จะเพิ่มคุณสมบัติกราฟฟิคใหม่ๆเข้าไปแล้วก็ตาม แต่ในเรื่องของ Fram Rate ที่ได้จากเกม 3D ก็ยังน้อยกว่าคู่แข่งอยู่ ส่วนเรื่อง 2D ก็ยังคงยอดเยี่ยมไม่มีใครเกินเหมือนดั่งที่เคยเป็นมาครับ
MGA G100 ถูกนำไปประกอบบนการ์ดจอรุ่นต่างๆดังนี้
- Matrox Millennium G100 (สำหรับทำตลาดระดับบน)
- Matrox Mystique G100 (สำหรับทำตลาดระดับกลาง และล่าง)
- Matrox Productive G100 (เป็นการ์ดจอสำหรับต่อ MultiMonitor)
เราจะพบว่าตอนนี้ชื่อ Millennium และ Mystique ได้กลายมาเป็นชื่อบอกประสิทธิภาพของการ์ดจอของ Martrox ไปเสียแล้วครับ โดยรุ่นที่ใช้ชื่อ Millennium จะมีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นที่ใช้ชื่อ Mystique ครับ
Matrox Productive G100 เป็นการ์ดจอ MultiMonitor ที่มี TV-tuner ในตัว
ผลโดยสรุป MGA G100 ก็ยังสู่คู่แข่งไม่ได้ครับแม้จะออกมาที่หลังก็ตามทีนะครับ แต่ Martrox เองก็ประยุกต์สินค้าของตัวเองได้เป็นอย่างดีครับโดยการนำชิพ MGA G100 จำนวนหลายๆตัวมาประกอบบนการ์ดตัวเดียวกัน และทำเป็นการจอสำหรับงาน MultiMonitor ครับ โดยใช้ชื่อว่า Matrox Productiva G100 ครับ ซึ่งก็ช่วยเพิ่มช่องทางหากินให้กับ Matrox ได้เป็นอย่างดีครับ
แม้ว่าตอนหลัง ATi นำ Rage ไปทำเป็น ATi Rage On-in-Wonder เพื่อแย้งชิงตลาดกับ Matrox ก็ตามที่ แต่ Matrox ก็ไม่เคยกลัวครับ เพราะเรื่อง 2 มิติ และ MultiMonitor นั้นไม่มีใครสู้ Matrox ได้อยู่แล้วล่ะครับ
Matrox MGA G200 Series (การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในตลาดเกมอย่างสมศักศรีดิ์)
อย่างที่บอกล่ะครับ ว่าเม็ดเงินในตลาดเกมนั้นมันมีเยอะมากครับ มีหรือ Matrox จะยอมปล่อยมันไปง่ายๆ Matrox จึงได้พัฒนาชิพ MGA-G200 ขึ้นมา งานนี้มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและไม่มีใครตามทันเลยครับ
สิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน G200 Series
- DualBus : คือการแยกเส้นทางที่ชิพกราฟิคใช้ในการติดต่อกับหน่วยความจำออกเป็นสองเส้นทาง อันได้แก่ เส้นทางที่สำหรับรับข้อมูลเข้ามา(Input) และส่งข้อมูลออกไป(Output) ซึ่งทำให้เสมือนว่ามีเส้นทางสำหรับรับส่งข้อมูลกว้างขึ้น 2 เท่า ด้วยคุณสมบัติ DualBus นี้ทำให้การ์ดจอในตระกูล G200 นี้แม้ว่าใช้ Ram ที่มีความกว้างของ Bus Interface เพียง 64 bit ก็จะสามารถทำการส่งข้อมูลได้เสมือนกับว่าใช้ Ram ที่มีความกว้าง Bus Interface 128 bit เลยครับ
- คุณสมบัติ VCQ (Vibrant Color Quality) คุณสมบัตินี้ทำให้ G200 สามารถ Render งาน 3D ออกมาด้วยที่คุณภาพสี 32 Bit ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือกว่าชิพกราฟิคของคู่แข่งในตอนนั้นมากเลยครับ เพราะคู่แข่งรายต่างๆนั้นยังคงใช้การแสดงผลคุณภาพสี 16 Bitกันอยู่ครับ
- สนับสนุนคุณสมบัติใหม่เช่น Trilinear mip-map filtering และ ati-aliasing (ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในกราฟฟิคยุคนั้น)
- G200 มีความสามารถแสดงผล 2D ที่ความละเอียดมากเท่าไร ก็จะมีความสามารถแสดงผล 3D ได้เท่านั้นด้วย ซึ่งคู่แข่ง Voodoo 2 นั้นสามารถแสดงผล 3D ได้เพียง 800 x 600 เท่านั้นครับ
- G200 เป็นชิพกราฟฟิคตัวแรกที่ต้องใช้ Heatsink ช่วยในการระบายความร้อนครับ (ในเวลานั้นชิพกราฟฟิคตัวอื่นๆสามารถทำงานได้อย่างปกติโดยไม่ต้องชุดระบายความร้อนช่วยแต่อย่างใด)
รายชื่อการ์ดจอรุ่นต่างๆที่ใช้ชิพ MGA G200
- Matrox Millennium G200 => เป็นรุ่นท็อบสุดในตระกูล G200 ใช้ SGRAM
- Matrox Mystique G200 => เป็นรุ่นราคาประหยัด ซึ่งทำการลดต้นทุนโดยการเปลี่ยนมาใช้ SDRAM แทนที่ SGRAM ที่ใช้ใน Millennium G200
- Matrox Marvel G200 => เป็นรุ่นที่มี TV in และ TV-Out และมี Breakout box สำหรับ extra I/O
- Matrox G200 MMS => มีชิพกราฟฟิค 4 ตัวสำหรับต่อกับจอภาพ 4 ตัว
- Matrox Millennium G250 => เป็น G200 ที่ถูกลดเทคโนโลยีการผลิตลงจาก 350 nm มาเป็น 250 nm ทำออกมาสำหรับ OEM เท่านั้น
ภาพ เกม Tomb Raider's Laura Croft ที่ได้จาก Matrox Mystique G200 (ซ้าย) และ NVIDIA RIVA 128 (ขวา)
ภาพเกม G Police ที่ได้จาก Matrox Mystique G200 (ซ้าย) และ NVIDIA RIVA 128 (ขวา)
ภาพ Rage income ที่ได้จาก Matrox G200
ภาพ Rage income ที่ได้จาก 3dfx Voodoo 2
ผลที่ได้จากคุณสมบัติ VCQ นั้นทำให้ Matrox สามารถแสดงภาพออกมาได้สวยงานกว่าการ์ดจอยี่ห้ออื่นๆที่มีอยู่ในขณะนั้นครับ เพราะว่าในช่วงเวลานั้น มีเพียงแค่ G200 เท่าที่สามารถแสดงภาพออกคุณภาพสี 32 bit ได้ครับครับ ดังนั้นเรื่องความสวยงามของภาพก็ถือว่า Matrox G200 ชนะขาดครับ
สำหรับในเรื่องประสิทธิภาพนั้น G200 ก็ทำออกมาได้ดีครับ เป็นรองแค่ Voodoo 2 เท่านั้นเองครับ แต่การทดสอบที่เห็นเป็นเพียงการทดสอบที่ได้จากเกมที่สนับสนุน Direct3D เท่านั้นครับ
ส่วนเรื่องการทำงานร่วมกับ OpenGL นั้น G200 ทำออกมาได้ไม่ดีนัก เพราะว่า OpenGL Driver ของ G200 ยังไม่สมบูรณ์ดีครับ Matrox จึงใช้ wrapper driver แทนก่อนซึ่งเจ้า Wrapper นี้จะทำการแปลงชุดคำสั่งของ OpenGL ไปเป็นชุดคำสั่งของ DirectX ก่อน และส่งให้ G200 ทำการประมวลต่อไปครับ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ G200 มีประสิทธิภาพด้อยกว่าการ์ดจอคู่แข่งที่ทำการประมวลผลกับ OpenGL โดยตรงครับ แต่ก็ยังดีกว่าการที่ G200 ไม่สามารถทำงานกับ OpenGL ได้เลยใช่ไหมครับ (*OpenGL Driver ของ Matrox พัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเวลาของชิพรุ่น G400 ครับ)
สรุปโดยภาพรวมแล้ว Matrox G200 Series ถือว่าเป็นการกลับมาในตลาดเกมอย่างสวยสดงดงามมากเลยครับ และด้วยคุณ VCQ ที่ช่วยให้ภาพของเกมที่ได้จาก G200 ออกมาสวยงามมากเลยครับ นอกจากภาพสวยแล้วประสิทธิภาพก็ดีด้วย(เฉพาะในส่วนของ DirectX) ด้วยเหตุนี้ Martrox จึงกลับมาเกิดใหม่ในตลาดเกมอีกครั้งครับ
ภาพ การ์ดจอ Martrox G200 MMS
Matrox MGA-G400 (จุดสูงสุดของ Matrox)
หลังจากที่ประสบความสำเร็จใน G200 Series อย่างสวยงามไปแล้ว ทาง Matrox เองก็มิได้รอช้ารีบพัฒนา G400 ต่อเลยครับ เพราะรู้ว่าค่ายอื่นๆต้องพัฒนาการ์ดที่สามารถแสดงที่คุณภาพสี 32 bit ออกมาได้ทันตนเองอย่างแน่นอนครับ แล้วก็เป็นจริงครับ เพราะ NVIDIA ก็ได้ส่งที่ RIVA TNT ซึ่งมีความสามารถในการแสดงผลที่คุณภาพสี 32 bit ออกมาได้ตามที่ทาง Matrox คาดการณ์ไว้ครับ ส่วน 3dfx ก็มี Voodoo3 แม้จะแสดงผลที่คุณภาพสีที่ 16 bit เท่านั้นแต่มันกลับแรงเป็นบ้าเลยครับ ทาง Matrox เองก็ไม่ได้ประมาทเตรียม G400 อาวุธใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆไว้รอเรียบแล้วครับ
ภาพ Matrox Millennium G400 Max
สิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน G400 Series มีดังนี้
1.) ชิพ G400 ใช้ชื่อรหัส(Code Name) Toucan ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีขนาดเล็กลงนั้นก็คือ 250 nm (G200 ใช้เทคโนโลยีการผลิต 350 nm ส่วน G250 ที่ทำจำหน่ายเฉพาะแบบ OEM เท่าใช้เทคโนโลยีการผลิต 250 nm ครับ)
2.) G400 เป็นชิพกราฟิคที่ทำงานแบบ 256 bit
3.) G400 ใช้งานงานร่วมกับหน่วยความจำชนิด SGRAM และ SDRAM ที่มีความกว้างของ Bus Interface 128 Bit เมื่อใช้งานควบคู่กับคุณสมบัติ DualBus ที่อยู่ภายในชิพ G400 แล้วจะทำให้มีอัตราการส่งข้อมูลภายในชิพ 256Bit นั้นเอง พูดง่ายๆก็เสมือนกับว่าชิพ G400 ตัวนี้ทำงานร่วมกับแรม 256 Bit นั้นเอง
4.) สำหรับ Matrox G400 นั้นได้เพิ่มความสามารถที่เรียกว่า DualHead เข้ามาซึ่งก็ทำให้สามารถแสดงผลภาพ 2 จอได้พร้อมกันโดยใช้ชิพ G400 เพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้นครับ
*หมายเหตุ แม้ว่า Matrox จะสามารถทำการ์ดจอ MultiDisplay โดยใช้ชิพรุ่นอื่นๆก่อน G400 มาแล้วก็ตาม แต่ว่าการ์ดเหล่านั้นต้องใช้ชิพประมวลผลหลายตัวบนการ์ดใบเดียว แต่ว่า G400 ใช้ชิพเพียงตัวเดียวก็สามารถทำ MultiDisplay ได้
5.) คุณสมบัติ EMBM (Environment Mapped Bump Mapping)
- การ Map คือการวางรูปพื้นผิวแบบต่างๆลงบนโครงสามมิติครับ
- EMBM คือการ Map โดยคำนึงถึงแสงตกกระทบพื้นผิวที่ได้จากสภาวะแวดล้อมรอบข้าง ทำให้ภาพ 3มิติ ที่ได้การทำ EMBM นั้นมีพื้นพิวที่สวยสมจริงกว่าการ Map ภาพแบบธรรมดา
- EMBM นี้ถือถือว่าเป็นจุดเด่นของ Matrox เลยก็ว่าได้เพราะในเวลานั้นไม่มีการ์ดจอตัวใดมีคุณสมบัตินี้อยู่เลยครับ
- ภายหลัง EMBM ก็มีอยู่ในชิพกราฟิครุ่นหลังๆหมดทุกตัวแล้วครับ ซึ่งก็ได้แก่ Radeon 7000 series ขึ้นไป และ GeForce 3 ขึ้นไปครับ แต่ในช่วงเวลาที่ G400 ซึ่งมีคุณสมบัติ EMBM ออกมานั้น ทาง ATi มีเพียง Rage 128 และ Nvidia ก็มีเพียง TNT 2 เท่านั้นครับ
6.) VCQ2
ใน VCQ2 นี้นอกจากจะทำให้ชิพของ Matrox สามารถแสดงผลที่คุณภาพสี 32บิต ได้แล้วยังเพิ่มความสามารถในการป้องการแสดงผลสีผิดผลาดเข้าไปอีกด้วยครับ ดังนั้นสีที่ได้จากการแสดงผล 2มิติ และ 3มิติ จาก Matrox G400 จึงมีความสวยสมจริงสมจังมากกว่ายี่ห้ออื่นครับ
Matrox G400 ได้แบ่งซอยรุ่นดังนี้
-
Millenium G400 MAX (เป็นตัว Topสุด แรงสุด ในตระกูล G400 ครับ)
- Core 150 Mhz
- Mem SGRAM 200 Mhz 128 bit
- Pipeline 2
- Millenium G400
- Core 125 Mhz
- Mem SG/SDRAM 166 Mhz 128 bit
- Pipeline 2
- Marvel G400 TV
- Core 125 Mhz
- Mem SG/SDRAM 166 Mhz 128 bit
- Pipeline 2
- Video Capture และ TV Tuner
ภาพข้างบน Slave Zero ที่ได้จากการ์ด NVIDIA TNT 2 Ultra ซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยี Software Bump Mapping
ภาพข้างบนเกม Slave Zero ที่ได้จากการ์ด Martrox Millennium G400 MAX ซึ่งเกิดจาการใช้เทคนิค EMBM (Environment Mapped Bump Mapping)
ภาพข้างบน เกม Expendable ตอนที่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน EMBM
ภาพข้างบน เกม Expendable เมื่อเปิดใช้งาน EMBM
TurboGL Driver
TurboGL Driver คือ ไดร์เวอร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ G400 ในการทำงาน OpenGL ให้ดียิ่งขึ้น โดย TurboGL Driver นี้จะต้องใช้งานควบคู่ไปกับการใช้ Driver ปกติของ Martrox
เอาล่ะครับ เมื่อภาพสวยและประสิทธิภาพดีแบบนี้ Martrox Millennium G400 MAX ก็กลายเป็นการ์ดจอที่แรงที่สุดในโลกไปเลยครับ และก็เป็นครั้งแรก และครั้งเดียวที่ Matrox ได้นั้งอยู่บนบัลลังค์กราฟฟิคแห่งเกมอยู่เหนือผู้ผลิตชิพกราฟิคทั้งมวลครับ แต่อย่างว่าล่ะครับไอ้บัลลังค์นี้ไม่มีใครได้นั้งนานหลอกครับ เพราะเมื่อ NVIDIA ส่ง GeForce 256 ออกมา NVIDIA ก็เขี่ย Matrox ตกลงจากบัลลังค์ไปเสียแล้วครับ
Matrox MGA G450
สำหรับ G450 นั้นจะแตกต่างจาก G400 ตรงที่
- G450 จะใช้เทคโนโลยีการผลิต 180 nm ซึ่งเล็กกว่า G400 ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 250 nm
- G450 ใช้แรมที่มี Bus Interface เพียง 64 bit (เมื่อใช้ DaulBus จะได้ 128 bit ) ซึ่งน้อยกว่า G400 ซึ่งใช้แรมที่มี Bus Interface 128 bit (เมื่อใช้ DaulBus จะได้ 256 bit )
- G450 มีรุ่นที่ DDR-RAM และ SD-RAM ให้เลือกใช้
- ด้วยเทคโนโลยีที่เล็กกว่าทำให้สามารถนำ RAMDAC เข้าไปติดตั้งในตัวชิพ G450 ได้เลย ไม่ต้องติดตั้งแยกออกมาภายนอกเหมือน G400
- นอกจากนี้ G450 ก็มีคุณสมบัตต่างๆเหมือนกับ G400 ครับ
- G450 มี 2 รุ่น คือ รุ่น Millenium และ Mavel ครับ
จากความแตกต่างที่เราได้ทราบกันแล้วข้างต้น เราจะพบว่า G450 ไม่ได้แรงไปกว่า G400 เลยครับ แต่ G450 นั้นมีราคาถูกกว่า G400 นั้นเองครับ โดย Matrox หวังว่าราคาของ G450 ที่ถูกลงมาเมื่อเทียบกับ G400 นั้นจะเรียกความสนใจจากลูกค่าได้มากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วทาง NVIDIA ก็ได้ส่ง GeForce 2 MX หรือ GeForce 2 รุ่นประหยัด ออกมาดับความฝันของ Matrox ลงไปครับ
Matrox MGA G550
สิ่งใหม่ๆใน G550
1. จำนวนของ Texture Unit ใน Pixel Pipeline
- G550 นั้นมี่ 2 Pixel Pipeline โดยแต่ล่ะ pipeline จะมี 2 texture Unit รวมแล้วมี texture unit จำนวน 4 unit
- G400 และ G450 นั้นมี่ 2 Pixel Pipeline โดยแต่ล่ะ pipeline จะมี 1 texture Unit รวมแล้วมี texture unit จำนวน 2 unit
2. G550 สามารถใช้คุณสมบัติ Vertex Shader ที่อยู่ใน DirectX 8.0 ได้ ซึ่งจุดนี้ G400 และ G450 ไม่สามารถทำได้ครับ
3. G550 มี TnL Unit อยู่ในตัวแต่ทาง Matrox ได้ทำการ Disable ไว้ผมเองก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไรนะครับ
4.G550 สนับสนุนคุณสมบัติ HeadCasting Engine โดยคุณสมบัตินี้จะทำการแปลงข้อมูลรูปภาพ ไปเป็นฟังก์ชั่นก์ Bone Matrix จากนั้น G550 ก็จะนำฟังก์ชั่น Bone Matrix นี้ไปคำณวณโดยใช้ Vertex shader เพื่อสร้างเป็นโครงสร้างภาพ 3มิติออกมา และเมื่อได้โครงสร้างแล้ว G550 ก็จะเรนเดอร์ออกมาเป็นภาพ 3มิติครับ
ข้อดีของ HeadCasting Engine คือ
เมื่อเรามีการประชุม หรือติดต่อพูดคุยกันผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตแทนที่เราจะส่งภาพของเราไปทั่งภาพ เราก็จะใช้ HeadCasting Engine ทำการแปลงภาพของเราเป็น ฟังก์ชั่นก์ Bone Matrix และเราก็ส่งฟังก์ชั่นก์นี้ออกไปให้ผู้รับ และเมื่อผู้รับข้อมูลปลายทางได้รับ ฟังก์ชั่นก์ Bone Matrix จากเรา(ทั้งผู้รับและผู้ส่งต้องใช้การ์ดจอ G550 ด้วยกันทั้งคู่นะครับ) การ์ดจอของผู้รับจะทำการแปลงฟังก์ชั่นก์ Bone Matrix เป็นภาพ 3 มิติครับ
การส่งฟังก์ชั่นนั้นจะทำได้ง่ายกว่าการส่งภาพครับ เพราะฟังก์ชั่นมีขนาดเล็กกว่าข้อมูลภาพเยอะครับ
5. G550 นั้นมีทั้งพอร์ต DVI และ D-Sub แต่ G400 และ G450 นั้นมีเฉพาะ D-sub
ส่วนที่เหมือนกันของ G550 และ G450 นั้นก็คือ
- ทั้ง 2 ตัวมีความเร็ว Core และความเร็ว Ram เท่ากันครับ
- ทั้ง 2 ตัวใช้เทคโนโลยีการผลิต 180 nm เท่ากันครับ
แม้ว่า G550 จะมีความเร็ว Core และ Ram เท่ากับ G450 แต่ด้วยจำนวน Texture Unit ที่มีจำนวนมากกว่า ทำให้ G550 มีประสิทธิภาพเหนือกว่า G450 พอสมควร แต่ก็ยังตามหลังการ์ดจอของคู่แข่งอยู่อีกไกลครับ
ส่วนคุณสมบัติ หรือฟีเจอร์ใหม่ๆนั้นเรียกได้ว่ามีก็เหมือนไม่มีครับ ไม่ว่าจะเป็น
- TnL ที่ถูก Disable ไว้
- HeadCasting Engine ที่มี Software ที่สนับสนุนน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยมอีกเสียด้วยครับ
หลังจากที่ Matrox ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเกมในศึก G550 ทาง Matrox ได้หันหน้าไปทำการ์ดสำหรับงานอื่นๆแทนเช่น การ์ดสำหรับตัดต่อ Video, อุปกรณ์สำหรับ Camara Capture ,อุปกรณ์สำหรับการการนำเสนองาน และอื่นๆครับ แต่การจากไปครั้งนี้หลายคนต่างวิจารณ์ว่า นั้นไม่ใช้การจากตลาดเกมไปอย่างถาวร และหลายคนเชื่อว่า Matrox ต้องกลับมาอีกแน่ๆ เพราะว่าเม็ดเงินในตลาดการ์ดจอสำหรับเล่นเกมนั้นยังมีอีกมากมายครับ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลมากเมื่อเทียบกับตลาดการ์ดจอสาขาอื่นๆ
Matrox Parhelia 512
หลังจาก G550 Matrox ได้กลับอีกครั้งพร้อม Matrox Parhelia 512
สำหรับ Matrox Parhelia นี้เรียกได้ว่าเป็นการกาวกระโดดครั้งสำคัญของ Matrox เลยครับ จากที่เคยตามหลัง NVIDIA และ ATI ในเกือบทุกด้านทุกๆด้าน(ยกเว้น การแสดงผล 2D และ Multi Display) แต่ Matrox Parhelia นี้กลับมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทำให้ทั้งวงการกราฟิคการต้องตกตะลึงไปตามๆกัน หลังจากที่นักวิจารณ์หลายท่านได้เห็นข้อมูลเบื้องต้นของ Matrox Parhelia แล้วนักวิจารณ์หลายท่านต่างตังฉายาให้การ์ดตัวนี้ว่า GeForce 4 Killer ครับ เอาล่ะเราไปดูเสปค ของ Matrox Parhelia กันดีกว่าว่ามันมีอะไรดีถึงกับได้ฉายาน่ากลัวขนาดนี้มาได้
*หมายเหตุ ในช่วงเวลานั้นการ์ดจอที่กำลังได้รับความนิยมในเวลาเดียวกันคือ Nvidia GeForce 4 และ Radeon 8500 ซึ่งทั้ง 2 ตัวใช้ DirectX 8.1 เท่านั้นครับ
ข้อมูลของ Matrox Parhelia 512
- เทคโนโลยีการผลิต 150 nm
- ทรานซิสเตอร์ 80 ล้านตัว
- 4 pixel pipeline โดยแต่ละ pixel pipeline มี 4 Texture Unit รวมแล้วมี 16 Texture Unit
- 4 vertex pipiline
- 256 bit DDR Memory Interface เมื่อใช้ร่วม RingBus Memory Controller ที่อยูในชิพ Matrox Parhelia แล้วจะสเมือนกับใช้แรม 512 bit
- Core speed 220 Mhz
- Memory Clock 250 Mhz (500 Mhz DDR)
- Memory size 128 - 256 MB
- Hardware support of DirectX 8.1 ver. 1.3 pixel shaders;
- Hardware support of DirectX 8.1 ver. 1.1 and DirectX 9 ver. 2.0 vertex shaders;
- สามารถต่อจอภาพได้ถึง 3จอ
- คุณสมบัติ Hardware Displacement Mapping
- 16x Fragment Antialiasing
ภาพ Tech Demo ของ Matrox Parhelia 512 ซึ่งเป็น Demo ที่มีความสวยสด งดงาม มีชีวิตชีวา เป็นอย่างมากครับ (คลิกรูปดูภาพใหญ่)
เอาล่ะครับเห็น เสป็คแบบนี้เป็นใครก็ต้องคิดว่ามันสุดยอดแน่ๆเพราะว่า
GeForce 4 Ti และ Radeon 8500 นั้นใช้แรม Bus Interface ที่มีความกว้างเพียง 128 bit แต่ Matrox Parhelia นั้นใช้ Bus interface 256 bit แถมบวกกับ RingBus เข้าไปอีกเป็น 512 bit โอ้! พระเจ้ามันช่างแตกต่างอะไรกันขนาดนี้
GeForce 4 Ti และ Radeon 8500 ต่อจอภาพออกได้ 2 จอ แต่ Matrox Parhelia ไอ้บ้านี้! มันดันต่อออกได้ 3 จอ เทพจริงๆ
GeForce 4 Ti และ Radeon 8500 เขาใช้ DX 8.1 ทั้ง pixel shaders และ vertex shaders(Shader Model 1.x) ทาง Matrox Parhelia ก็ยังคงใช้ pixel shaders ของ DX 8.1 เช่นกันครับ แต่ vertex shaders ใช้ของ DX 9.0 ครับ เพราะอะไรหรือครับ เพราะว่าจะได้โฆษณาได้ว่ามันเป็นการ์ด DirectX 9 ไงครับ เอาล่ะครับเดียวเรามาดูคุณสมบัติพิเศษที่อยู่ใน Matrox Parhelia 512 กันดีกว่านะครับบ้าง
HDM (Hardware Displacement Mapping )
HDM นี้เป็นมาตรฐานที่จะสนับสนุนใน DirextX 9 จุดประสงค์หลักของ HDM นี้ก็คือการประมวลผลภูมิประเทศและรูปทรงในแบบสามมิติแบบซับซ้อน ได้จากข้อมูลขนาดเล็ก โดยจะเป็นการนำ Source ทั้งสองอย่างมารวมกัน นั่นก็คือโครงสร้างรูปตาข่าย (Mesh) กับ Displacement Map ซึ่งเป็น Texture แบบสองมิติจนออกมาเป็น Displacement Mesh และได้เอาต์พุตออกมาดังภาพด้านล่างนี้ เทคนิคดังกล่าวสามารถที่จะมำมาประยุกต์ใช้ได้กับทั้งการสร้างภูมิประเทศแบบสามมิติตลอดไปจนถึงการสร้าง Model สามมิติได้เช่นเดียวกัน
ขั้นตอนการทำงานง่ายของ HDM ซึ่งสามารถสร้างภูมิประเทศที่ซับซ้อนจาก source ที่เป็นไฟล์ Texture สองมิติขนาดเล็กรวมเข้ากับโครงสร้างรูปตาข่าย รูปแบบการทำงานนั้นจะไม่ซับซ้อนมากนัก โดยทางการ์ดจะตรวจสอบ Texture ที่มาทำเป็น Displacement Map โดยดูจากค่าสีอ่อนแก่ใน Texture นั้นๆ ก่อนที่จะ encode ค่าต่างๆ มาเป็นความสูงต่ำและรวมเข้ากับ Mesh จนได้รูปร่างและภูมิประเทศออกมาในแบบ Realtime ซึ่งความละเอียดของเอาต์พุตที่ได้จะขึ้นอยู่กับความละเอียดของ Mesh ที่นำมาใช้และผลที่ได้ก็จะแตกต่างกันออกไป
นอกจากจะนำมาใช้ในการสร้างภูมิประเทศแล้วนักพัฒนายังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในการสร้างตัวละครที่มีลักษณะแตกต่างกันบน base mesh อันเดียวกันได้ด้วย
ภาพแสดงขั้นตอนการทำงานของ HDM (Hardware Displacement Mapping )
Depth-Adaptive Tessellation
สำหรับ Depth-Adaptive Tessellation นี้ก็คือการกำหนดให้ตัวชิปสามารถที่จะรู้จักลำดับความสำคัญของร ะยะหรือที่เรียกกันว่า Level of Detail ซึ่งชิปจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของภูมิประเทศที่อยู่ใกล้มากกว่าภูมิประเทศที่อยู่ไกล ซึ่งการทำงานนี้จะคล้ายกับระบบการทำงานของ Truform ในการ์ด ATi เมื่อดูภาพด้านล่างประกอบจะช่วยให้เข้าใจอะไรได้มากขึ้นนะครับ
ชิปจะให้ความสำคัญกับจำนวนและขนาดของ Polygon ในระยะใกล้มากกว่าภูมิประเทศที่อยู่ไกลและถูกบดบังอยู่ ซึ่งการทำงานนี้จะรวมไปถึงความละเอียดของ Texture ด้วย ทำให้ชิปนั้นไม่ต้องเสียเวลาประมวลผล Polygon ในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระของระบบโดยรวมได้ โดยที่ไม่ทำให้คุณภาพของกราฟิกที่แสดงผลนั้นเสียไป
ภาพเปรียบเทียบการประมวลที่มีการใช้ Depth-Adaptive Tessellation(บน) และไม่มีการใช้ Depth-Adaptive Tessellation
16x Fragment Antialiasing
ชิปประมวลผลจะแบ่งพิกเซลบริเวณขอบออกเป็น sub-pixel ย่อยๆ ถึง 16 ส่วนในการประมวลผล ซึ่งใน 16 ส่วนนี้ชิปก็จะเปรียบเทียบค่าสีระหว่างพิกเซล แต่ละตัวก่อนที่จะใส่ค่าสีที่ใกล้เคียงระหว่างพิกเซล เข้าไป และการแบ่ง sub-pixel ออกเป็น 16 จุดนี้เองที่เป็นที่มาของชื่อ 16x Fragment Antialiasing
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ Matrox Parhelia 512 คือ ความสามารถในการต่อกับจอภาพได้ถึง 3 จอโดยใช้การ์ด Matrox Parhelia 512 เพียงตัวเดียว ครับ
เอาล่ะฟังบรรยายสรรคุณมากแล้วเรามาชมการทดสอบจริงๆกันดูซิว่าเป็นเก่งสมคำเหล่าหรือเปล่า
ผลการทดสอบออกมาแล้วครับ ปากเซียนหักเป็นแถวๆเลยครับ ไอ้ที่บอกว่า GeForce 4 Killer นั้นสงสัยว่าจะ Killer เฉพาะ GeForce 4 MX แล้วมั้งครับ ส่วน GeForce 4 Ti นั้นเรียกได้ว่ายังอีกไกลพอตัวครับ
คุณภาพของภาพที่ได้
ข้างบน ภาพ The Elder Scrolls III: Morrowind ที่ได้จาก Martrox Paheria 512 (คลิกที่รูปดูภาพใหญ่)
ข้างบน ภาพ The Elder Scrolls III: Morrowind ที่ได้จาก NVIDIA GeForce 4 Ti (คลิกที่รูปดูภาพใหญ่)
ข้างบน ภาพ The Elder Scrolls III: Morrowind ที่ได้จาก ATi Radeon 8500 (คลิกที่รูปดูภาพใหญ่)
ข้างบน ภาพ The Elder Scrolls III: Morrowind ที่ได้จาก SIS Xabre (คลิกที่รูปดูภาพใหญ่)
ข้างบน ภาพ The Elder Scrolls III: Morrowind ที่ได้จาก 3DLabs VP870 (คลิกที่รูปดูภาพใหญ่)
ข้างบน ภาพ The Elder Scrolls III: Morrowind ที่ได้จาก Kyro II (คลิกที่รูปดูภาพใหญ่)
ข้างบน ภาพ The Elder Scrolls III: Morrowind ที่ได้จาก NVIDIA GeForce 2 (คลิกที่รูปดูภาพใหญ่)
ในเรื่องของความสวยงามของภาพที่ได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคนนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Martrox แสดงผลภาพออกมาได้สวยงาม และมีชีวิตชีวามากเลยครับ
ราคาเป็นตัวตัดสิน
ราคาของ Martrox Parhelia 512 นั้นสูงถึง $399 เลยครับ ซึ่งในขณะนั้น GeForce 4 Ti 4600 อยู่ที่ราคา $350 ส่วน Radeon 8500 ขณะนั้นราคา $200 เมื่อดูจากประสิทธิภาพที่ได้จากการทดสอบเทียบกับราคาค่าตัวแล้ว ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะเลือกถูกนะครับว่าท่านจะใช้ตัวไหน หากท่านอยู่ในช่วงเวลานั้นครับ
Matrox Millennium P650 ,P690 และ P750
กลับมาอีกแล้วครับ Matrox Millennium Series แต่คราวนี้ไม่ได้มาพร้อมตัว G แต่มาพร้อมตัว P ครับ ซึ่ง Millennium P Series นี้ก็คือ Matrox Parhelia รุ่นประหยัดนั้นเองครับ (Parhelia รุ่นประหยัดจะใช้ชื่อรหัสว่า PaheliaXL) โดยมีการเปลี่ยนแปลงเสป็คดังนี้ครับ
- ลดจำนวน Texture Unit ต่อ pipeline ลงจาก 4x4 ที่เคยใช้ใน Matrox Parhelia ลงมาเป็น 2x4 Matrox Millennium P series
- เปลี่ยนจาก AGP 4x ที่เคยใช้ใน Matrox Parhelia มาเป็น AGP 8X ใน Matrox Millennium P series
- ลดเสป็คจากที่เคยใช้ Ram 256bit ใน Matrox Parhelia ลงมาเป็น Ram 128 bit ใน Matrox Millennium P Series
- ความเร็ว Core และ ความเร็ว Ram ของ Matrox Parhelia และ Matrox Millennium P750 เท่ากัน ส่วน P650 และ P690 ไม่มีข้อมูล
- Matrox Parhelia แรม 128 MB ราคา $399
- Matrox Millennium P750 แรม 64 MB ราคา $ 235
- Matrox Millennium P650 แรม 64 MB ราคา $ 235
*หมายเหตุราคาอ้างอิงปี ค.ศ. 2003 นะครับ
ที่กล้าวมาข้างต้นคือในส่วนของความแตกต่างของ Matrox Parhelia และ Matrox Millennium P series ครับส่วนอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้เหมือนกันหมดครับ
ภาพ Matrox Millennium P750
เมื่อจากผลการทดสอบเทียบกับราคาของตัวการ์ดแล้ว บอกได้คำเดียวครับว่า Matrox นั้นไม่เหมาะกับตลาดเกมเลย ดังนั้น Martrox จึงหันหลังให้กับตลาดเกม แล้วจากไป
Matrox ในปัจจุบัน
ในปัจจุบันนี้ธุระกิจของ Matrox ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และMatrox ก็ยังมีผลิตใหม่ออกมาเรื่อยๆครับ โดยผลิตภัณฑ์ต่างๆมีดังนี้
1) หมวด Graphics for Professional
1.1) Graphics eXpansion modules
1.2) Graphics Cards
1.3) Display Controller
1.4) Multi-Display Software
1.5) Video Decoding
1.6) Display Wall Product
1.7) Extension
1.8) Remote Graphics Unit
1.9) Thin Computing Solution
2) หมวด Digital Video Solution
2.1 ) สำหรับ Windows มี Matrox AXION LE และ Martrox RT.X2
2.2) สำหรับ MAC มี Matrox MXO2 และ MXO
3) หมวด Martrox Imagine
3.1) Software สำหรับงานวิเคราะห์และประมวลผลภาพ
3.2) Smart Camera
3.3) Stand Alone Vision System
3.4) Frame Grabbers
3.5) Vision Processor
เราจะเห็นว่า Matrox นั้นมีสินค้ามากมายหลายอย่างที่ทำให้ตนเองหากินอย่างสนุกสนานจนลืมตลาดการ์ดจอสำหรับเล่นเกมไปเลยล่ะครับ เอาล่ะครับสำหรับเรื่องราวของ Matrox ผมข้อจบลงแต่เพียงเท่านี้นะครับ สวัสดีครับ
บทความ : A.A.C ตอนที่ 14 Matrox การ์ดจอแห่งการสร้างสรรค์
โดย : IonRa
e-mail : IonRa@live.co.uk
บทความนี้เคยนำเสนอในกระทู้ของเว็บต่อไปนี้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น