พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคอมพิวเตอร์


k001

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาซึ่งกำลังจะมาถึงใน 5 ธันวาคมนี้ กระผมขออนุญาตินำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันให้เพื่อนๆได้รับทราบกันนะครับ หลายท่านคงอาจจะเคยรับทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยเรานั้นทรงมีพระอัจฉริยะภาพมากมายหลายประการ เช่นพระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ที่สำคัญพระองค์ได้ทรงนำพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆของพระองค์ออกมาใช้ผ่านโครงการในพระราชดำริต่างๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยดีขึ้น สำหรับในบทความนี้ผมจะนำเสนอเฉพาะในส่วนของพระอัจฉริยภาพทางด้านคอมพิวเตอร์ครับ เพื่อให้เพื่อนๆของเราที่มีความสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์ได้รับทราบถึงพระอัจฉริยะภาพทางด้านคอมพิวเตอร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ

k002

ภาพในหลวงทรงงานโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh Plus

เริ่มต้นกับ Macintosh Plus

ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ตกลงใจซื้อเครื่องแมคอินทอชพลัสซึ่งเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สาเหตุที่ ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้เลือกเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ก็เพราะว่า ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยทางด้านดนตรี และในขณะนั้นเครื่องแมคอินทอชพลัสนั้นสามารถเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ และยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสำหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย

k014

ภาพ ในหลวง และคุณทองแดง ในห้องทรงงานซึ่งมีคอมพิวเตอร์

ทรงประดิษฐ์ตัวอักษร หรือฟอนต์(Font)

หลังจากที่พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการแต่งเพลงไปได้สักระยะหนึ่ง พระองค์ก็ได้สนใจในการออกแบบรูปแบบตัวอักษร หรือฟอนต์(Font) โดยพระองค์ทรงศึกษาโปรแกรม "Fontastic" และพระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ฟอนต์ขึ้นมา อันได้แก่ ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์ และฟอนต์ไทยอื่นๆอีกมากมาย และนอกจากฟอนต์ภาษาไทยแล้วพระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ฟอนต์ภาษาอื่นๆอีกด้วยเช่น ฟอนต์ภาษาสกฤต ฟอนต์ภาษาเทวนาครี (ภาษาแขก) เป็นต้น ซึ่งฟอนต์เทวนาครีนี้มีความยากในการออกแบบที่อยากกว่าฟอนต์อื่นๆมากเลยครับ เพราะ ตัวอักษรเทวนาครี หรือ ตัวอักษรแขกนั้น มีรูปแบบที่ไม่คงตัวเหมือนตัวอักษรภาษาอื่นๆที่ทั่วโลกใช้กัน หรือกล่าวคือ ถ้านำส่วนหนึ่งของอักษรนำมาต่อรวมกับอีกส่วนหนึ่งของอักษร จะเกิดอักษรใหม่ขึ้นนั้นเองครับ (ใครที่เคยเห็นตัวอักษรแขกก็คงพอจะนึกออกนะครับ เป็นตัวอักษรที่อ่านยากมากๆตัวหนึ่งเลยก็ว่าได้(เขียนยากมากด้วยครับ))

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในตัวอักษรเทวนาครี หรือ ตัวอักษรแขกนั้น เพราะว่าพระองค์ทรงศึกษาข้อธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง การที่ทรงศึกษาตัวอักษรแขก ก็เพื่อเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจด้านอักษรศาสตร์ และความเข้าใจในหัวข้อธรรมะนั่นเอง เพราะคำสอนและข้อธรรมะในพุทธศาสนานั้น เดิมทีก็เกิดและเผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย บรรดาธรรมะที่ลึกซึ้งและยากแก่ความเข้าใจ ก็อาจจะถูกตีความผันแปรบิดเบือนไปได้ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าลึกลงไปถึงภาษาแขก จึงน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะชัดเจนกระจ่างมากขึ้น

k013

ภาพ ในหลวง และคุณมะลิ ในห้องทรงงานซึ่งมีคอมพิวเตอร์

ทรงเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้เอง

ต่ออมาได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC Compatible และทรงสนพระทัยศึกษาในการพัฒนา Software ต่างๆ และได้สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งสนพระทัยในเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบนี้มากทีเดียว บางครั้งทรงเปิดเครื่องออกดูระบบต่างๆ ภายในด้วยพระองค์เอง หรือทรงปรับปรุง Software ใหม่ขึ้นใช้ ทรงแก้ซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

ทรงออกแบบ ส.ค.ส ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

ส.ค.ส. พระราชทาน เป็นบัตรส่งความสุข ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ เป็นประจำทุกปี (ยกเว้น พ.ศ. 2548)

ในวันสิ้นปี (31 ธันวาคม) ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพร เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี นอกจากนี้ ยังทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจ มาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่ แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงาน โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร ทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า กส. 9 ปรุ ส.ค.ส. พระราชทาน ที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. 2530

k003

ภาพ ปี พ.ศ. 2497 ณ สถานีวิทยุ อส. เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง กับพสกนิกร

k004

ภาพ ส.ค.ส พระราชทานของปี พ.ศ. 2530 ที่ได้จากการปรุแถบโทรพิมพ์

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรสาร (แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทาน แต่ละปี จะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในปีต่อ ๆ มา หนังสือพิมพ์รายวัน ได้นำลงตีพิมพ์ ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง

นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน เป็น ก.ส. 9 ปรุง เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ "ปรุ" ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ "ปรุง" ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้น จะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ ดังนี้

ววชชนน ด.ด. ปปปป และตั้งแต่ ส.ค.ส. พระราชทานปี 2549 เป็น ววชชนน ด.ด. ปป เมื่อ ว=วันที่ ช=เวลาเป็นชั่วโมง น=เวลาเป็นนาที ด=เดือน และ ป=ปี
 

ส.ค.ส. พระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี นอกจากนี้ คำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน ตั้งแต่ปีดังกล่าวเป็นต้นมา จะมีข้อความ "พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad, D.Brahmaputra, Publisher"(ใน ส.ค.ส. ปี 2549) และ "Printed at the Suvarnnachad Publishing, C.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี 2550)

k005

ภาพ ส.ค.ส พระราชทานของปี พ.ศ. 2549 เป็น ส.ค.ส ที่ในหลวงทรงออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์

*หมายเหตุ

ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ไม่มี ส.ค.ส. พระราชทาน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิ เนื่องจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งนายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์จะพระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวันปีใหม่ ซึ่งหลังจากที่พระองค์พระราชทานเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสว่า ปีใหม่ปีนี้ไม่ ส.ค.ส.พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงทำงานอย่างหนักในการให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวใต้ที่ได้รับ ความเดือดร้อน

นายขวัญแก้วกล่าวอีกว่า นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตรัสอีกว่า พระองค์ทรงรู้สึกปลื้มใจที่คนไทยไม่ทิ้งกัน เวลาเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกัน เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ซึ่งการที่คนไทยได้ช่วยเหลือกันครั้งนี้เหมือนเป็นหลักประกันให้พระองค์ว่า เมื่อไรที่พระองค์เดือดร้อนก็จะมีคนมาช่วย สิ่งที่ทุกคนทำผลบุญก็จะส่งให้กับผู้ที่ให้การช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนด้วย ซึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า ทรงปลื้มใจคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือทุกคน ไม่รังเกียจว่าเป็นคนชนชาติไหน

k007

ภาพ ส.ค.ส พระราชทานในปีต่างๆ

พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์

ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนานั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๔๗๒,๙๐๐ บาท ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถาต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เดิม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาเสร็จแล้ว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑

ทรงเห็นว่าโครงการนี้ควรได้รวบรวมเอาชุดอรรถกถาและฎีกาเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเนื้อหาทางด้าน พุทธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์นี้ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูล ในฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก

การครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบไปในอนาคตกาล เพราะโครงการพระราชดำรินี้ เป็นส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญ ที่ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งรวบรวมเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับเป็นการใช้วิทยาการอันก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ได้อย่างเหมาะสม
และสร้างสรรค์

สำหรับ โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามพระราชดำรินี้ ได้พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ ในชื่อ BUDSIR IV โดยพัฒนาต่อเนื่องจาก โปรแกรม BUDSIR (อ่านออกเสียงว่า บุดเซอร์) มาจากคำว่า Buddhist Scriptures Information Retrieval

k008

ประวัติของ BUDSIR

BUDSIR I สามารถค้นหาคำทุกคำ ศัพท์ทุกศัพท์ ทุกวลี ทุกพุทธวจนะ ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก จำนวน 45 เล่ม หรือข้อมูลมากกว่า24.3ล้านตัวอักษรที่ได้รับการบันทึกในคอมพิวเตอร์ได้อย่าง
รวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์

BUDSIR II
พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2532 ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมัน สำหรับการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ

BUDSIR III ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกในเดือนเมษายน 2533 เพื่องานสืบค้นที่มีความซับซ้อน สำหรับ

BUDSIR IV นี้ ได้รวบรวมพระไตรปิฎกและอรรถกถา/ฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ทุกเล่มที่ใช้ศึกษาหลักสูตรเปรียญธรรม
นอกจากนี้ยังรวม version ที่เป็นอักษรโรมันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีขนาดข้อมูลรวม 115 เล่ม หรือประมาณ 450 ล้านตัวอักษร นับเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม โดยบันทึกพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลงบนแผ่น CD-ROM แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2537 ซึ่งจะอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อผู้ที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 18 มกราคม 2538 และในปัจจุบันสำนักคอมพิวเตอร์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาโปรแกรมพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ ฉบับภาษาไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ศึกษา อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานโปรแกรมนี้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

k009

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับออนไลน์

หลายคนคงจะทราบดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเพื่อให้เยาวชนไทยได้ศึกษาความรู้ในสาขาวิชาต่างๆอย่างกว้างขวาง โดยในสารานุกรมไทยฉบับเยาวชนนั้นได้บรรจุสาระความรู้ต่างๆที่จำเป็นสำหรับเยาวชนไทยเอาไว้ ปัจจุบันนี้เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต เพื่อนๆก็สามารถเข้าไปอ่านสารานุกกรมไทยฉบับเยาวชนได้แล้วละครับ ที่ URL : http://kanchanapisek.or.th/kp6/index.html

k010

เรียนออนไลน์ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

หลายคนคงเคยได้ยิน โครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมมาบ้างแล้วนะครับ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้เด็กไทยในพื้นที่ต่างๆได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันดังนั้น โครงการนี้จึงได้เกิดขึ้น โดยเด็กนักเรียนในท้องถิ้นต่างๆที่อยู่ห่างไกลสามารถที่จะเรียนหนังสือโดยผ่านทางระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้าถึงคนไทยมากขึ้น เด็กไทยจึงสามารถที่จะรับชมการเรียนการสอนดังกล่าวผ่านท่างระบบอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน โครงการดังกล่าวชื่อ "DLF - elearnig เฉลิมพระเกียรติ" เพื่อนๆสามารถที่จะเข้าไปรับชมการเรียนผ่านทางไกลแบบสด หรือรับชมเป็นแบบเทปบันทึกย้อนหลังได้ที่ URL : http://www.dlf.ac.th/dltv/index.php ครับ อย่าลืมติดตั้งโปรแกรม RealOne Player ด้วยน่ะครับ เพราะต้องใช้โปรแกรมนี้ในการรับชมการเรียนการสอนครับ

k011

อ่านคำสอนของพ่อ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สามารถที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ท่านสามารถอ่านพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระองค์ได้ที่ URL : http://www.onec.go.th/khamphorson/index.html ซึ่งภายในเว็บได้แยกอ่านพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสออกเป็นหมวดหมู่เพื่อให้เหมาะกับการไปใช้ตามความเหมาะสมของผู้อ่านในวัยต่างๆอันได้แก่ เด็ก นักเรียน นักศึกษา และผู้ใหญ่วัยทำงาน

k012

ดาวน์โหลดเพลงพระราชพนธ์ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

http://kanchanapisek.or.th/royal-music/index.th.html เป็นเว็บรวบร่วมเพลงพระพระราชพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอาไว้ ซึ่งเพื่อนๆสามารถเขาไปดาวน์โหลดเนื้อร้อง และไฟล์เสียง ชนิด mp3 ได้จากเว็บนี้ครับ

k015

นอกจากพระอัจฉริยภาพทางด้านคอมพิวเตอร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านยังทรงมีพระอัจฉริภาพทางอื่นๆอีกมากมายครับ แต่ไม่ว่าจะเป็นพระอัจฉริยภาพด้านไหนๆพระองค์ก็ทรงใช้ออกมาเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงงานอย่างนักหนักมาตลอดระยะเวลา 62ปีที่พระองค์ขึ้นครองราชเพื่อที่คนไทยจะได้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นผมคิดว่าคงไม่มีสิ่งใดที่ตอบแทนความเหนื่อยยากพระองค์ท่านได้ดีไปกว่าการที่เราคนไทยทุกคนร่วมกันทำความดีกันเพื่อถวายแด่พระองท่านครับ

บรรณานุกรม

0 ความคิดเห็น: